Murat, Joachim (1767-1815)

จอมพล มูรา โชอากีม (๒๓๑๐-๒๓๕๘)

​​​     โชอากีม มูรา เป็นจอมพลแห่งฝรั่งเศสในต้นรัชสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napolean I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔)* และกษัตริย์แห่งเนเปิลส์ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๑๕ มูรามีบทบาทสำคัญในชัยชนะของนายพลนโปเลียนหลายครั้งในช่วง สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)*

เขาสนับสนุนนโปเลียนในการก่อรัฐประหาร เดือนบรูแมร์ (Coup d’ Etat Brumaire ค.ศ. ๑๗๙๙)* เพื่อล้มล้างการการปกครองแบบคณะกรรมการอำนวยการ (Directory)* นโปเลียนจึงตอบแทนเขาด้วยการสนับสนุนให้สมรสกับคาโรลีน (Caroline) น้องสาวคนเล็กใน ค.ศ. ๑๘๐๐ และแต่งตั้งเป็นจอมพลเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ ต่อมา จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ยังพระราชทานสมญานามว่า "ยอดขุนพลทหารม้าแห่งยุโรป" (First Horseman of Europe) และใน ค.ศ. ๑๘๐๖ ก็ทรงสถาปนาให้เป็นแกรนด์ดุ๊กแห่งแบร์กและคลีฟส์ (Grandduke of Berg and Cleves) ใน ค.ศ. ๑๘๐๘ จอมพล มูราก็ได้เป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์สืบต่อจากโจเซฟ โบนาปาร์ต (Joseph Bonaparte) พระเชษฐาในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งเสด็จไปครองราชสมบัติสเปน
     มูราเกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๖๗ ที่บาสตีดฟรงโตนีแยร์ (Bastide Frontonière) หมู่บ้านเล็ก ๆ ในแคว้นเปรีกอร์ (Périgord) เป็นบุตรคนสุดท้องจากจำนวน ๑๒ คนของปีแยร์ มูรา ชอร์ดี (Pierre Murat- Jordy) และชาน ลูบีแยร์ (Jeanne Loubière) บิดาเป็นผู้ดูแลโรงเตี๊ยม เขาเป็นเด็กที่ห้าวหาญและชอบเสี่ยง อันตราย บิดาจึงพยายามขัดเกลานิสัยโดยส่งเขาไปศึกษาทางด้านศาสนศาสตร์ที่วิทยาลัยกาออร์ (Cahors) และย้ายไปเรียนต่อที่เมืองตูลูส (Toulouse) จนจบการศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๘๗ หลังสำเร็จการศึกษา เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในวัดที่เมืองตูลูสต่อมาได้เลิกใช้ชีวิตในศาสนจักรและสมัครเป็นทหารในกรมทหารม้า แต่ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ ก็ถูกปลดออกจากประจำการเนื่องจากขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา มูราเป็นคนขยัน ว่องไว มีสติปัญญาหลักแหลม และเป็นที่รักใคร่ในหมู่เพื่อนฝูง เขาจึงได้กลับเข้าประจำการในกองทัพบกในเวลาต่อมา
     ใน ค.ศ. ๑๗๙๑ มูราได้เลื่อนยศเป็นร้อยโทเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม เขาเป็นผู้บังคับบัญชาการกองทหารม้าที่ชาญฉลาดและกล้าหาญ ทั้งมีบทบาทสำคัญในชัยชนะของนายพลนโปเลียนหลายครั้ง ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ เขาช่วยนายพลนโปเลียนปกป้องพระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) จากการต่อสู้ของพวกนิยมเจ้าเพื่อโค่นสภาแห่งชาติ (National Convention) โดยอาสาไปขโมยปืนใหญ่ ๔๐ กระบอกจากกองกำลังป้องกันชาติ (National Guard) มาให้ ซึ่งทำให้นโปเลียนมีชัยชนะและทำให้คณะกรรมการอำนวยการกลายเป็นคณะรัฐบาลปกครองฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๕ นโปเลียนจึงแต่งตั้งเขาเป็นผู้บังคับบัญชากองพลน้อยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๖ มูราได้สร้างชื่อให้ตนเองในการสู้รบอย่างกล้าหาญในสงครามกับอิตาลีระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๗๙๗ และสงครามกับอียิปต์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๘-๑๗๙๙ ในการรบที่อียิปต์เขาเป็นผู้บังคับบัญชากองพลทหารม้าเข้ายึดเมืองอะเล็กซานเดรีย (Alexandria) เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๘ และบุกประจัญบานในยุทธการที่พีระมิด (Battle of Pyramid) เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ เขายังเป็นนายทหารคนแรกที่นำทัพเข้าโจมตีเมืองท่าแซงชองดากร์ (Saint Jean d’ Acre) เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๙ นอกจากนี้ ในระหว่างทำสงครามกับซีเรียที่อ่าวอาบูกีร์ (Aboukir) เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๙ เขาสามารถจับกุมปาชา มุสตาฟา (Pasha Mustapha) ได้ด้วยตนเอง ในระหว่างการต่อสู้ แม้เขาจะสูญเสียนิ้วไป ๒ นิ้ว แต่ก็กัดฟันสู้ความเจ็บปวดจากบาดแผลจนมีชัยชนะ ความเก่งกล้าและห้าวหาญของมูราทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำโดยกำเนิดและเป็นขวัญใจของเหล่าทหารม้า
     ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ มูราสนับสนุนนายพลนโปเลียนในการก่อรัฐประหารเดือนบรูแมร์เพื่อโค่นอำนาจการปกครองแบบคณะกรรมการอำนวยการ และจัดตั้งการปกครองระบบกงสุล (Consulate System ค.ศ. ๑๗๙๙-๑๘๐๔)* ขึ้นโดยมีคณะผู้บริหารคือกงสุล ๓ คน นายพลนโปเลียนดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลคนที่ ๑ มีอำนาจเด็ดขาดในการออกกฎหมายและประกาศสงคราม นโปเลียนจึงตอบแทนมูราโดยสนับสนุนเขาให้สมรสกับคาโรลีนน้องสาวคนเล็กใน ค.ศ. ๑๘๐๐ ซึ่งในปีเดียวกันนี้มูราก็มีชัยชนะในยุทธการที่เมืองมาเรนโก (Battle of Marengo) ด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๐๑ มูราสามารถ ปราบปรามเจ้าราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ที่ปกครองเนเปิลส์และบังคับให้ลงนามการสงบศึกที่โฟลีญโญ (Armistic of Foligno) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๔ เมื่อนโปเลียนให้ชาวฝรั่งเศสลงประชามติล้มระบบกงสุลและสถาปนาจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔)* ขึ้น โดยนโปเลียนได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งมูราเป็นจอมพล ต่อมาในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ มูรามีบทบาทสำคัญในการรบกับกองทัพออสเตรียที่เมืองอุล์ม (Ulm) จนสามารถยึดครองเมืองอุล์มได้ เขาไล่ติดตามกองทหารม้าออสเตรียและรัสเซียตามเส้นทางแม่น้ำดานูบเพื่อขัดขวางไม่ให้กองทหารม้าฝ่ายศัตรูเข้าสมทบกับกองกำลังหลักที่ เอาส์เทอร์ลิทซ์ (Austerlitz)* และเป็นคนแรกที่เดินทัพเข้ากรุงเวียนนา แต่จักรพรรดินโปเลียนทรงพิโรธที่เขาฝ่าฝืนคำสั่ง มูราจึงแก้ตัวด้วยการรบอย่างเข้มแข็งที่เอาส์เทอร์ลิทซ์จนฝรั่งเศสมีชัยชนะเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๕
     ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงสถาปนาจอมพลมูราเป็นแกรนด์ดุ๊กแห่งแบร์กและคลีฟส์ และในปีเดียวกันนั้น ฝรั่งเศสได้เข้าสู่สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓ โดยรบกับกองทัพปรัสเซีย ณ เมืองเยนา (Jena) ในราชรัฐแซกโซนีเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ จอมพลมูราได้นำกองทหารม้าติดตามโจมตีกองทัพปรัสเซียที่แตกพ่ายใน ยุทธการที่เมืองเยนา (Battle of Jena)* ไปจนถึงเมืองไลพ์ซิก (Leipzig) และทำให้นายพลเกบฮาร์ด ฟอน บลือเชอร์ วาลชตัดท์ (Gebhard von Blücher Wahlstadt)* แม่ทัพปรัสเซียยอมแพ้ที่เมืองลือเบค (Lübeck) กองทัพฝรั่งเศสจึงสามารถยาตราเข้าสู่กรุงเบอร์ลินได้สำเร็จในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ใน ค.ศ. ๑๘๐๗ เขายังนำกองทหารม้าฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองไอเลา (Eylau) ได้เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ และความสามารถในการนำทัพขยี้ศัตรูครั้งนี้ทำให้เขาได้สมญาว่า "ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าแปดสิบกองพัน"
     ใน ค.ศ. ๑๘๐๘ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงสถาปนามูราเป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลล์โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์ต้องปกครองประเทศตามนโยบายของจักรวรรดิฝรั่งเศส ทรงพระนามว่าโชอากี มนโปเลียน หรือจออากีโน นาโปเลโอเน (Gioachino Napoleone) ในภาษาอิตาลี พระเจ้ามูราทรงปฏิรูปที่ดินและนำ ประมวลกฎหมายนโปเลียน (Code Napoleon)* มาใช้ตลอดจนสนับสนุนการปลูกฝ้ายเพื่อการอุตสาหกรรมพระองค์ยังทรงจัดระเบียบแบบแผนในกองทัพ และเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถทำงานในระบบบริหาร ขณะเดียวกันก็ทรงเห็นการณ์ไกลที่จะมีบทบาทในการรวมชาติอิตาลีด้วยการสนับสนุนสมาคมลับต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหวรวมชาติด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๘๑๒ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทำสงครามกับรัสเซียและเคลื่อนกำลังบุกกรุงมอสโกพระเจ้ามูราทรงเข้าร่วมรบในยุทธการที่โบโรดีโน (Battle of Borodino) แต่เมื่อกองทหารฝรั่งเศสถอยทัพออกจากกรุงมอสโก พระเจ้ามูราทรงถอนตัวจากการรบเพื่อกลับไปปกป้องราชอาณาจักรเนเปิลส์ของพระองค์ ใน ค.ศ. ๑๘๑๓ ทรงร่วมรบกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ อีกครั้งในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (Fourth Coalition) แต่กองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างย่อยยับใกล้เมืองไลพ์ซิกจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ รีบเสด็จกลับกรุงปารีสเพื่อรวบรวมกำลัง แต่พระเจ้ามูราทรงยอมจำนนด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเวียนนากับออสเตรียเพื่อรักษาราชบัลลังก์ เนเปิลส์ไว้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เสด็จหนีจากเกาะเอลบา (Elba) กลับมาครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสอีกครั้ง ในช่วงสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* ระหว่างวันที่ ๒๐ มีนาคมถึง ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ พระเจ้ามูราสนับสนุนจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ในการทำสงครามกับออสเตรียอีกครั้งหนึ่ง และทรงยกทัพเข้ายึดครองกรุงโรม เมืองอันโกนา (Ancona) และโบโลญญา (Bologna) พร้อมทั้งออกแถลงการณ์เรียกร้องการรวมชาติอิตาลี แต่กองทัพของพระองค์พ่ายแพ้ ต่อกองทัพออสเตรียในยุทธการที่โตเลนตีโน (Battle of Tolentino) เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ทรงหนีกลับไปที่เนเปิลส์และฝรั่งเศสเพื่อขอความช่วยเหลือจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ แต่ประสบความล้มเหลวพระองค์จึงเสด็จไปประทับที่ เกาะคอร์ซิกา (Corsica) ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พระเจ้าเฟอร์ดินานที่ ๔ (Ferdinand IV) แห่งราชวงศ์บูร์บงก็เสด็จกลับมาปกครองเนเปิลส์อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในเดือนตุลาคมพระเจ้ามูราทรงรวบรวมกำลังได้ประมาณ ๖๐๐ คน พระองค์จึงเคลื่อนกำลังเพื่อหวังช่วงชิงเนเปิลส์กลับคืน แต่ทรงถูกจับขณะขึ้นบกที่เมืองปิซโซ (Pizzo) พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ทรงให้เวลาพระองค์สวดมนต์ครึ่งชั่วโมงก่อนถูกปลงพระชนม์
     เมื่อวาระสุดท้ายมาถึงในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๑๕ พระเจ้ามูราทรงก้าวพระบาทอย่างมั่นคงสู่แดนประหาร ด้วยท่าทางสงบเยือกเย็นไม่หวั่นไหว ราวกับว่า กำลังเดินตรวจพลสวนสนามตามปรกติ ไม่ยอมนั่งบนเก้าอี้ ไม่ยอมให้ปิดตาโดยกล่าวว่า "ฉันเคยเผชิญกับความตายมานักต่อนักแล้วจนไม่มีความกลัวหลงเหลืออยู่อีก" พระองค์ทรงยืดพระวรกายตรง องอาจ ไม่สะทกสะท้าน พอทหารเตรียมพร้อม พระองค์ก็ก้มลงจุมพิตพลอยหัวแหวนที่แกะสลักพระพักตร์พระมเหสี แล้วตรัสสั่งว่า "อย่าให้โดนใบหน้าฉันนะ... เล็งที่หัวใจ...ยิง" จอมพลยอดทหารม้าและกษัตริย์แห่งเนเปิลส์สิ้นพระชนม์ขณะพระชนมายุเพียง ๔๘ พรรษาเท่านั้น
     พระเจ้ามูรามีโอรส ๒ องค์และธิดา ๒ องค์ โอรสองค์โตพระนามว่า นโปเลียน อาชีล มูรา (Napoleon Achille Murat ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๔๗) อพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๘๒๑ และโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน สิ้นชีวิตที่เมืองฟลอริดา โอรสองค์เล็กพระนามว่า นโปเลียน ลูเซียง ชาร์ล มูรา (Napoleon Lucien Charles Murat ค.ศ. ๑๘๐๓-๑๘๗๘) อพยพไปสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๘๒๕ แล้วกลับมาฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๔๘ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napolean III ค.ศ. ๑๘๕๑-๑๘๗๑)* แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ทรงสถาปนาให้เป็นเจ้าชาย ทรงพระนามว่า เจ้าชายมูรา ส่วนธิดาทั้ง ๒ องค์ไปอยู่ที่ ออสเตรียกับอดีตสมเด็จพระราชินีคาโรลีนมารดาซึ่งทรงใช้พระนามว่า เคาน์เตสแห่งลีปาโน (Countess of Lipano) พระนางสิ้นพระชนม์ที่เมืองฟลอเรนซ (Florence) เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๓๙ ธิดาองค์โต พระนามว่า เลตีเซีย โชเซฟีน มูรา (Letizia Josephine Murat) อภิเษกสมรสกับมาร์ควิสเปโปลีแห่งโบโลญญา (Pepoli of Bologna) ส่วนลุยส์ ชูลี มูรา (Louis Julie Murat) ธิดาองค์เล็กอภิเษกสมรสกับเคานต์รัสโปนีแห่งราเวนนา (Rasponi of Ravenna).



คำตั้ง
Murat, Joachim
คำเทียบ
จอมพล มูรา โชอากีม
คำสำคัญ
- อันโกนา, เมือง
- เอลบา, เกาะ
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔
- ฝรั่งเศสที่ ๒, จักรวรรดิ
- ยุทธการที่โบโรดีโน
- เฟอร์ดินานด์ที่ ๔, พระเจ้า
- ยุทธการที่โตเลนตีโน
- คอร์ซิกา, เกาะ
- นโปเลียนที่ ๓, จักรพรรดิ
- ปิซโซ, เมือง
- โบโลญญา, เมือง
- เอาส์เทอร์ลิทซ์
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- ไอเลา, เมือง
- การก่อรัฐประหารเดือนบรูแมร์
- มูรา, โชอากีม
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- คณะกรรมการอำนวยการ
- ตุยเลอรี, พระราชวัง
- ชอร์ดี, ปีแยร์ มูรา
- ตูลูส, เมือง
- โบนาปาร์ต, โจเซฟ
- แบร์กและคลีฟส์, แกรนด์ดุ๊กแห่ง
- ลูบีแยร์, ชาน
- เปรีกอร์, แคว้น
- บูร์บง, ราชวงศ์
- นโปเลียน, โชอากีม
- อะเล็กซานเดรีย, เมือง
- การสงบศึกที่โฟลีญโญ
- ยุทธการที่พีระมิด
- แซงชองดากร์, เมืองท่า
- นาโปเลโอเน, จออากีโน
- ประมวลกฎหมายนโปเลียน
- ปาชา มุสตาฟา
- ฝรั่งเศสที่ ๑, จักรวรรดิ
- ยุทธการที่เมืองมาเรนโก
- ลือเบค, นคร
- ระบบกงสุล
- ไลพ์ซิก, เมือง
- ยุทธการที่เมืองเยนา
- อุล์ม, เมือง
- วาลชตัดท์, เกบฮาร์ด ฟอน บลือเชอร์
- สมัยร้อยวัน
- อาบูกีร์, อ่าว
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1767-1815
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๑๐-๒๓๕๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี ศิริจันทพันธ์
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf